วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

การอ่านภาษาจีนในการสวดมนต์

สำเนียงการอ่านภาษาจีนในการสวดมนต์

เรียบเรียงจากคำอธิบายของพระอาจารย์จีนวินยานุกร (เย็นจู) วัดบำเพ็ญจีนพรต และศาสตราจารย์เฉินเทียนกั๋ว แห่งวิทยาลัยการดนตรี นครกว่างโจวโดย เศรษฐพงษ์ จงสงวน linlaoshi@buddhayan.com ดินแดนประเทศจีนแต่เดิม เป็นที่อาศัยของมนุษย์หลายเผ่า เผ่าฮั่นหรือเผ่าจีน เป็นชนเผ่าหลักทางตอนเหนือ จนเมื่อสามารถรวบรวมดินแดนแคว้นต่างๆ ทางตอนใต้เป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้ภูมิภาคต่างๆ ของจีน มีภาษาถิ่นต่างกันออกไปถึง ๗ สำเนียง (ได้แก่ ๑.ภาษาจีนเหนือ เรียกอีกอย่างว่าภาษาข้าราชการหรือภาษาจีนกลาง ใช้กันทางภาคเหนือและภาคกลาง เช่น ปักกิ่ง นานกิง เสฉวน ๒. ภาษาเซี่ยงไฮ้ ใช้แถบหางโจว หนิงปอ เป็นต้น ๓.ภาษาฮกเกี้ยน ซึ่งแบ่งออกเป็นภาษาฮกเกี้ยนเหนือหรือฮกจิว ภาษาฮกเกี้ยนตะวันออกหรือภาษาเซียงโป้ว ภาษาฮกเกี้ยนใต้ เช่น ภาษาเอ้หมึง ภาษาแต้จิ๋ว ภาษาไหหลำ ภาษาไต้หวันเป็นต้น ๔. ภาษากังไส คือ ภาษาถิ่นของมณฑลเจียงซี คล้ายภาษาแคะ ๕. ภาษาโอ้วน้ำ คือภาษาถิ่นของมณฑลหูหนาน คล้ายภาษาแคะและฮกเกี้ยน ๖. ภาษาแคะหรือฮากกา เป็นภาษาจีนกลางโบราณสมัยซ่ง ๗. ภาษากวางตุ้ง ซึ่งแบ่งออกได้เป็นภาษากวางเจา (ซ้ามยับ)และภาษาไถซาน (เซ้ยับหรืออึ๋งยับ) ซึ่งเป็นภาษาจีนสมัยฮั่น ผสมกับภาษาของคนพื้นเมืองสองกลุ่มแต่เนื่องจากที่ตั้งของนครหลวงมักจะอยู่ที่ดินแดนแถบตอนกลางจึงทำให้ ภาษาของคนถิ่นเหนือ จึงถือเป็นภาษาทางราชการ จนเมื่อราชวงศ์สุย-ถัง สร้างระเบียบการสอบบรรจุข้าราชการ ปัญหาใหญ่ของชาวจีนในมณฑลอื่นๆ คือการใช้สำเนียงภาษาไม่เหมือนกัน ทางราชการจึงแก้ปัญหาโดยให้ผู้ศึกษาคัมภีร์ของลัทธิขงจื้อที่ใช้สอบต้องเรียนรู้สำเนียงการอ่านให้เป็นแบบเดียวกัน จึงทำให้ดินแดนแถบจีนตอนใต้ เช่น กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน เป็นต้น ต้องเรียนการออกเสียงอักษรตามแบบภาษาจีนภาคกลาง พร้อมกับการเรียนคัมภีร์ ระบบนี้แพร่หลายมากยิ่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ ซ่ง เนื่องจากชาวจีนตอนเหนืออพยพลงใต้หนีภัยมองโกล ผู้รู้ที่หนีภัยจึงมีมากและต่างตั้งสำนักสั่งสอนคัมภีร์ขงจื้อแพร่หลาย ทำให้เกิดการอ่านด้วยสำเนียงที่แตกต่างจาก ภาษาพูดในชีวิตประจำวัน สำเนียงชนิดนี้เป็นหลักลักษณะของสำเนียงภาษาคัมภีร์ บุ่งงั้งอิม หรือ ขงจื๋อเจี่ย นี้ ยึดถือภาษาจีนเหนือหรือภาษาข้าราชการ สมัยราชวงศ์ ถัง ซ่ง เป็นหลัก มีการออกเสียงใกล้เคียงกับภาษาจีนโบราณและเข้ากันได้กับภาษาจีนท้องถิ่น เนื่องจากภาษาจีนท้องถิ่นต่างๆ รับวัฒนธรรม ภาษาจีนโบราณ ในยุคสมัยต่างกัน เช่น ภาษากวางตุ้ง รับสำเนียงภาษาจีนกลางสมัยราชวงศ์ฮั่น ภาษาฮกเกี้ยน (รวมทั้งแต้จิ๋ว) รับสำเนียงภาษาจีนกลางในสมัยราชวงศ์ถัง ภาษาแคะเป็นภาษาจีนกลางสมัยราชวงศ์ซ่ง ดังนั้นภาษาคัมภีร์บุ่งงั้งอิมจึงสามารถใช้กันแต่ละท้องถิ่นสืบมาในทางพระพุทธศาสนาการอ่านคัมภีร์พระสูตร จึงอนุโลมถือหลักการออกเสียงอย่างเดียวกับการเรียนคัมภีร์ขงจื้อ แต่เนื่องจากพระสงฆ์เรียนการอ่านอักษรเพียงเพื่อใช้อ่านพระสูตร ดังนั้นการอ่านจึงอาจปะปนกับสำเนียงท้องถิ่นบ้าง ทำให้สำเนียงการอ่านพระสูตรในอารามแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันตามท้องถิ่น แต่หลักใหญ่ยังเป็นการอ่านแบบตำราขงจื้อของเหล่าบัณฑิต คือ สำเนียงภาษาคัมภีร์ บุ่งงั้งอิม หรือ ขงจื้อเจี่ย เช่นเดิมในประเทศไทย พระสงฆ์จีนนิกายสืบทอดการสวดทำนอง การศึกษาพระสูตร และพิธีกรรมมาจากบูรพาจารย์ในมณฑลกวางตุ้งเป็นหลัก จึงได้สืบทอดการอ่านด้วยสำเนียงแบบภาษาคัมภีร์ บุ่งงั้งอิม หรือ ขงจื๋อเจี่ย จากแบบแผนของพระอารามเค่งฮุ้งยี่ ภูเขาเตี่ยโอ้ว เมืองเสียวเข่ง (肇慶鼎湖山慶雲寺) ซึ่งนับถือกันว่าเป็นอารามที่สำคัญและมีระเบียบแบบแผนแห่งหนึ่งของมณฑลกวางตุ้ง ในยุคปลายราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง การออกเสียงอ่านและการสวดมนต์ของพระสงฆ์จีน ในประเทศไทยในปัจจุบันจึงเป็นสำเนียงแบบเดียวกับที่ใช้ในอารามต่างๆ แถบโดยรอบเมืองกว่างโจว เมืองเสียวเข่งเมื่อระบบสอบคัดเลือกเข้ารับราชการถูกยกเลิกไป ต่อมารัฐบาลสาธารณรัฐที่ตั้งขึ้นใหม่ได้ประกาศให้ภาษาจีนสำเนียงภาคเหนือ เป็นมาตรฐานการสื่อสาร ต่อมาถือสำเนียงปักกิ่งเป็นเรียกว่าภาษาสามัญ การอ่านด้วยระบบภาษาคัมภีร์จึงค่อยสูญหายไป เหลือแต่ที่ใช้อยู่ภายในวัด และกลุ่มบัณฑิตที่ผ่านการศึกษาระบบเก่า สำเนียงในการสวด-อ่านพระสูตรของพระสงฆ์จีนในประเทศไทยปัจจุบัน จึงแตกต่างจากการอ่านบทสวดด้วยภาษาจีนกลางสามัญ แต่เป็นการรักษาวิธีการอ่านแบบโบราณ (ภายหลังในประเทศไทยมีผู้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นภาษาต่างหากที่เรียกว่าโหงวอิม 五音และว่าเกิดจากเสียงห้าภาษาผสมกัน)


ที่มา : http://www.buddhayan.com/?p=article&content_id=101